ผู้รับเหมาทิ้งงานเพราะอะไร แล้วจะแก้ไขอย่างไร
327 Views
เสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
ในบางครั้งการที่ ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก็ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ การป้องกันปัญหาทำได้หาก ทราบสาเหตุที่แท้จริง
ผู้รับเหมาทิ้งงาน นั้นถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ว่าจ้างที่หมายจะปลูกบ้านเอง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และในบางครั้งผู้รับเหมาก่อสร้างก็ไม่ได้ตั้งใจโกงอีกด้วย แต่เมื่อไรที่ผู้ว่าจ้างถูกผู้รับเหมาสร้างบ้านทิ้งงาน สิ่งแรกที่ผู้ว่าจ้างต้องทำคือ การทำความเข้าใจสาเหตุของการทิ้งงาน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และหาวิธีป้องกันไม่ให้ผู้รับเหมาหนีงานไปอีก บ้านที่ยังสร้างค้างคาอยู่จะได้เดินหน้าก่อสร้างต่อจนสำเร็จสมความตั้งใจ
สาเหตุที่ผู้รับเหมาทิ้งงานผู้รับเหมาบริหารจัดการไม่ดี
เป็นปัญหาสุดคลาสสิกในวงการก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้างบ้านกับผู้รับเหมารายย่อยที่ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ในการบริหารจัดการงาน เช่น หมุนเงินไม่ทันจนขาดสภาพคล่อง แม้ผู้ว่าจ้างจะแบ่งจ่ายค่าก่อสร้างเป็นงวด ๆ แล้ว หรือมีปัญหาคนงานก่อสร้างไม่พอ สาเหตุเหล่านี้ทำให้งานก่อสร้างหยุดชะงักได้อย่างง่ายดาย
เจอปัญหาที่ไม่คาดคิด
ในระหว่างการก่อสร้างบ้าน หน้างานอาจประสบปัญหาใด ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาดินทรุด โครงสร้างเดิมแตกร้าว หรือขุดไปเจอท่อแตก โดยปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจได้รับการแก้ไขได้ไม่ยาก แต่ถ้าเจอกับปัญหาใหญ่จนการทำงานต่อในสัญญาเดิมไม่คุ้มค่า ก็อาจเป็นสาเหตุให้ผู้รับเหมาหนีงานได้
ผู้ว่าจ้างเอาเปรียบเกินไป
ในบางครั้ง การทิ้งงานก็ไม่ได้เกิดจากฝั่งผู้รับเหมาทำผิด แต่อาจเกิดผู้ว่าจ้างที่เอารัดเอาเปรียบจนทนไม่ไหว ทั้งความจุกจิกเรื่องมากอย่างการขอเปลี่ยนนั่นเติมนี่จนไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันแต่แรก ความขี้เหนียวจากการไม่ยอมจ่ายเงินตามตกลง หรือการประวิงเวลาไม่ยอมรับมอบงานที่เสร็จไปแล้ว ต่อให้เป็นผู้รับเหมาดี ๆ แค่ไหนก็อาจทนไม่ไหวจนต้องทิ้งงานไปในที่สุด
ผู้ว่าจ้างเห็นแก่ของถูก
ในการหาผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน ผู้ว่าจ้างไม่ควรเห็นแก่ของถูกจนไปตกลงกับผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ ไม่ว่าจะมาจากความด้อยประสบการณ์ของผู้รับเหมาจนประเมินราคาผิด ความอยากได้งานมากจนเสนอราคาที่ต่ำจนขาดทุนและต้องทิ้งงานไปในที่สุด หรืออย่างที่แย่ที่สุดคือ การที่ผู้รับเหมาตั้งใจจะโกงอยู่แล้วจึงเสนอราคาล่อตาล่อใจ
แนวทางการแก้ไขปัญหาตรวจสอบสัญญาที่ตกลงกันไว้
สิ่งแรกที่ผู้ว่าจ้างต้องทำเมื่อถูกทิ้งงานคือ การตรวจสอบสัญญาว่าจ้างที่ตกลงกันไว้ เพื่อดูว่าต่างฝ่ายต่างทำอะไรที่ขัดต่อสัญญาหรือไม่ และมีการตกลงเงื่อนไขการทำงานไว้ว่าอย่างไรบ้าง การเข้าใจสัญญาว่าจ้างอย่างชัดแจ้งนั้นจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการเจรจา สัญญาว่าจ้างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเมื่อคิดจะจ้างใครมาสร้างบ้านให้
ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน
ผู้ว่าจ้างต้องตรวจสอบเงินทั้งหมดที่ผู้รับเหมาเบิกจ่ายไป เปรียบเทียบกับงานก่อสร้างที่ทำไปแล้ว ว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกันหรือไม่ มีการเบิกเงินเกินจากงานที่แล้วเสร็จไปมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าหากเงินที่จ่ายไปใกล้เคียงกับงานที่ทำไปแล้ว ผู้รับเหมาก็อาจมีเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การตั้งใจโกงหรือการขาดสภาพคล่องแล้วทิ้งงาน
นัดไกล่เกลี่ยเจรจาหาทางออก
การเจรจาคือสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะการทิ้งงานอาจเกิดจากปัญหาที่ผู้ว่าจ้างไม่เคยรับฟังมาก่อน หรือผู้รับเหมามีปัญหาอื่นที่อาจทำให้ต้องพักงาน การเจราจากันด้วยเหตุผลที่ทำให้เข้าใจอีกฝ่ายจึงอาจช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ทั้งสองฝ่ายได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ทราบถึงสาเหตุของการทิ้งงานสำหรับการวางแผนการแก้ปัญหาในขั้นต่อไป
ร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ
หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลหรือผู้รับเหมาหนีงานไปเลยอย่างจงใจ และผู้ว่าจ้างมั่นใจว่าผู้รับเหมาเป็นฝ่ายทำผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ/หรือฟ้องร้องศาลให้ดำเนินคดีผู้บริโภค หรือถ้ายังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ก็ขอให้นำสัญญาไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน
วิธีการป้องกันผู้รับเหมาหนีงานต้องเลือกผู้รับเหมาดี ๆ
ผู้ว่าจ้างควรมองหาผู้รับเหมาต่อเติมบ้าน ผู้รับเหมาตกแต่งภายใน และผู้รับเหมางานต่าง ๆ ที่มีประวัติการทำงานดี เสนอราคาอย่างเป็นมาตรฐาน และแนะนำผู้ว่าจ้างได้อย่างคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งผู้ว่าจ้างสามารถมองหาผู้รับเหมาที่ดีได้ง่าย ๆ จากการดูตัวอย่างงานก่อสร้างของเพื่อนบ้าน หรือว่าจ้างผู้รับเหมาในรูปแบบของบริษัท เป็นต้น
ต้องมีสัญญาจ้างที่ชัดเจน
สัญญาการว่าจ้างคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสไม่ให้พบกับผู้รับเหมาทิ้งงาน โดยสัญญาจ้างจะต้องชัดเจนถึงขอบเขตงาน ระยะเวลาการก่อสร้าง กำหนดการส่งมอบ ราคาค่าก่อสร้าง การรับประกันผลงาน เงื่อนไขการชำระเงิน และเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญา โดยทั้งหมดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ต้องมีใบแสดงรายการวัสดุ
การรับเหมาก่อสร้างที่โปร่งใสนั้นคือ การทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายวัสดุและค่าแรงอย่างชัดเจน แล้วแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า BOQ ซึ่งเป็นเอกสารที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้รับเหมาเบิกเงินเกินความคืบหน้างาน หรือฟันราคาผู้ว่าจ้างจนเกินพอดี
ท้ายที่สุดนี้ แม้ว่าการที่ผู้รับเหมาจะทิ้งงานไปนั้นอาจฟังดูเลวร้าย แต่ขอให้ผู้ว่าจ้างย้อนกลับมามองดูตัวเองด้วยว่า มีสิ่งใดที่ทำให้ผู้รับเหมาอึดอัดจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้จนเสร็จสิ้นหรือเปล่า และการแก้ไขปัญหาด้วยการเจราจาพูดคุย ก็จะช่วยให้ผู้ว่าจ้างทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร แล้วช่วยกันหาทางออกและผลักดันงานก่อสร้างจนแล้วเสร็จได้ด้วยดีในที่สุด
ที่มา https://www.sanook.com/home/22457/